เปลี่ยนทรายกรองน้ำประปาหมู่บ้าน

ทำความสะอาดแท้งค์สูงล้างระบบประปา

เปลี่ยนทรายกรองน้ำ

ติดตั้งถังกรองโรงงานอุตสาหกรรม

ติดตั้งและเปลี่ยนสารในถังกรอง

ติดตั้งถังกรอง

เปลี่ยนสารกรองน้ำ

เปลี่ยนสารกรองน้ำโรงงานอุตสาหกรรม

เปลี่ยนสารกรองน้ำ เปลี่ยนสารกรองน้ำ
free glitter text and family website at FamilyLobby.com

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เครื่องกรองน้ำฉุกเฉิน เน้นวัสดุท้องถิ่น ต้นทุนต่ำ ใช้งานง่ายทำได้จริง

เจริญชัย จิรชัยรัตนสิน
วิศวกรชำนาญการ

ในสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างอย่างนี้ นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนในเรื่องของที่อยู่อาศัยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบาธารณูปโภคพื้นฐานอย่าง “น้ำ” ที่ใช้สำหรับดื่มกิน และชำระล้างร่างกายอีกด้วย!!





หลายฝ่าย หลายหน่วยงาน ต่างร่วมแรงร่วมใจระดมความคิด ความสามารถในด้านต่าง ๆ สร้างสำนึกจิตอาสาขึ้นมาช่วยเหลือสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในยามคับขัน

ขณะที่หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหามีแต่น้ำท่วมขัง...และน้ำที่มีอยู่ก็เริ่มใช้ไม่ได้ บ้างมีสี มีกลิ่น จากน้ำที่เคยใสเปลี่ยนเป็นสีขุ่น ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ ด้วยเหตุนี้ บุคลากรที่มีจิตอาสาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จึงได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “เครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉิน” ขึ้น

เครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉิน เป็นผลงานของ นายวาสนิธิ์ พญาปุโรหิต นายธีรภัทร์ ฉัตรทอง นายวรนล กิติสาธร นายอภิชัจ เจียรวิริยะนาถ 4 หัวเรือใหญ่ของทีมวิจัย และกลุ่มเพื่อนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก ศูนย์วิจัยส่วนนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Division : AID) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โดยมี ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม และ รศ.ดร.วิษณุ มีอยู่ เป็นที่ปรึกษาของโครงการ

จริง ๆ แล้วการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะน้ำท่วมที่ขาดแคลนน้ำใช้ น้ำเพื่อชำระล้างสิ่งต่าง ๆ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้น้ำไม่มีกลิ่น ไม่มีสี มีความสะอาดเพียงพอและสกปรกน้อยที่สุด เพราะหากผู้ประสบภัยน้ำท่วมใช้น้ำที่มีเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนบ่อยครั้ง อาจไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ ทีมวิจัย เกริ่นนำ ก่อนช่วยกันอธิบายถึงขั้นตอนการทำงานของเครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉินให้ฟังว่า

เครื่องกรองน้ำฉุกเฉินนี้ถูกออกแบบไว้ให้มีความสะดวกในการทำใช้ได้เอง ไม่ต้องมีเครื่องมือพิเศษอะไร ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้นเป็นขนาดเล็กน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม เพื่อความสะดวกแก่การเคลื่อนย้าย ติดตั้งและซ่อมบำรุง สามารถกรองน้ำได้ครั้งละ 5 ลิตร ภายในครึ่งนาที



หลักการทำงานไม่สลับซับซ้อน อุปกรณ์แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องทรงกระบอก ความสูง 45 เซนติเมตร ขนาดบรรจุน้ำได้ 5 ลิตร อีกส่วนหนึ่งคือ กระบอก ความสูง 70 เซนติเมตร เพื่อบรรจุชุดกรองที่ได้ประยุกต์โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาไว้ในตัวกระบอก ซึ่งชั้นกรองแต่ละชั้นทำจากวัสดุที่สามารถหาได้ในพื้นที่ ประกอบด้วย หิน กรวด ชั้นทรายละเอียด และทรายหยาบ เพื่อทำการกรองสารแขวนลอยที่มีอยู่ในน้ำ และก่อนที่อินทรีย์สารจะทำให้เกิดสีจะถูกดูดซับโดยถ่านกัมมันต์

ถ่านกัมมันต์จริง ๆ แล้วไม่ได้แตกต่างจากถ่านที่เรารู้จักกันมากนัก เพียงแต่ถูกกระตุ้นหรือปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้มีศักยภาพในการดูดซับสารเจือปนต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำได้ ซึ่งชั้นกรองทั้งหลายเหล่านี้จะทำหน้าที่กรอง ดูดซับกลิ่น และปรับสภาพน้ำขุ่นให้กลายเป็นน้ำใสได้

อุปกรณ์ชุดนี้ ถูกออกแบบให้สามารถถอดทำความสะอาดล้างเองได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ เนื่องจากน้ำที่ใช้มีความขุ่นไม่เท่ากัน โดยผู้ใช้ต้องสังเกต หากปริมาณน้ำไหลออกมาช้ากว่าปกติ ก็สามารถถอดอุปกรณ์ล้างทำความสะอาดได้ทันที



ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม กล่าวเสริมว่า เครื่องกรองน้ำประเภทนี้ น้ำจะไหลผ่านชั้นกรองด้วยการอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ส่งผลให้อัตราการผลิตน้ำได้ไม่สูงนัก ดังนั้น ปั๊มน้ำ จึงมีความจำเป็นในการเสริมเข้ามาในระบบ เพื่อใช้เป็นตัวส่งน้ำเข้าสู่ระบบและทำให้อัตราการผลิตน้ำด้วยเครื่องกรองน้ำนั้นสูงขึ้น

โดยจะเห็นได้ชัดว่า ถ้ายังมีกระแสไฟฟ้าใช้อยู่ในพื้นที่คงไม่ใช่เรื่องลำบากที่จะติดตั้งระบบเครื่องกรองน้ำเดิมที่มีอยู่ แต่ในเวลานี้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ประสบอุทกภัยจะไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ดังนั้น จำเป็นต้องหากลไกอื่นในการปั๊มน้ำส่งเข้าสู่ระบบเครื่องกรองน้ำที่จะต้องไม่อาศัยกระแสไฟฟ้า เครื่องกรองน้ำที่ถูกจัดทำขึ้นนั้น จึงใช้ แรงลมที่มีอยู่ในกระบอกสูบลม ไปดันน้ำให้เข้าสู่เครื่องกรองน้ำด้วยอัตราการไหลที่เหมาะสมสำหรับการกรอง

หลักการทำงานจะอาศัยหลักการแทนที่น้ำของอากาศ ซึ่งเป็นหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานไม่ได้มีความสลับซับซ้อน เพียงแต่ต้องนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยตัวเครื่องกรองน้ำจะประกอบไปด้วยชั้นกรองต่าง ๆ เช่น ทรายหยาบ ทรายละเอียด และถ่านกัมมันต์ รวมถึงใยกรองต่าง ๆ ส่วนที่สอง เป็นส่วนของอุปกรณ์ส่งน้ำซึ่งประกอบไปด้วยปั๊มลมที่ต่อเข้ากับภาชนะบรรจุน้ำขนาด 5 ลิตร โดยการใช้งานนั้นสามารถทำได้โดยการปั๊มลมเข้าสู่ภาชนะที่บรรจุน้ำอยู่ โดยการปั๊มลมนี้ไม่ต่างอะไรจากการสูบลมเข้าจักรยานนั่นเอง”

น้ำที่ถูกแทนที่ด้วยอากาศจะไหลผ่านถังกรองน้ำด้วยอัตราการไหลที่เหมาะสม น้ำที่ผ่านเครื่องกรองนี้จะไม่มีสีและสามารถนำไปใช้อาบและชำระล้างได้ แต่ยังไม่เหมาะสำหรับการนำไปบริโภค ทางทีมงานวิจัยจึงได้พัฒนาอุปกรณ์เสริมขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง สำหรับในกรณีจำเป็นที่ต้องนำน้ำนั้นไปดื่ม โดยชุดกรองชุดนี้จะประกอบขึ้นแบบง่าย ๆ โดยเพิ่ม ไส้กรองเซรามิกส์ ฟิลเตอร์ ขนาดรูพรุน 0.3 ไมครอน ที่ใช้ในเครื่องกรองน้ำทั่ว ๆ ไป และมีจำหน่ายในร้านค้าและซุูเปอร์มาร์เกต ราคาตั้งแต่ 150-500 บาท แล้วแต่คุณภาพ ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับเชื้อโรคในน้ำ เพื่อให้น้ำมีสภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อการนำมาใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งสามารถกรองจุลินทรีย์บางชนิดออกได้

อย่างไรก็ตาม การจะนำน้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำฉุกเฉินไปบริโภคนั้นควรมีการฆ่าเชื้อ ด้วยการเติมคลอรีนหรือนำไปต้มเสียก่อน ทั้งนี้ ทีมงานวิจัยภายใต้การนำ รศ.ดร.วิษณุ มีอยู่ กำลังทำการพัฒนาถ่านกัมมันต์ชนิดพิเศษที่สามารถใช้กำจัดเชื้อแบคทีเรียได้อยู่



ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พร้อมจิตอาสาบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง จะเริ่มผลิตเครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉินนี้ คาดว่าจะผลิตได้วันละ 35 เครื่อง และจะมอบเครื่องกรองน้ำให้แก่ ชุมชน หรือในศูนย์พักพิงที่ประสบปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ หากชุมชนใดสนใจนำไปพัฒนาใช้ต่อสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2988-3655 ต่อ 1105-7 สายตรง 0-2988-4023 สำนักประชาสัมพันธ์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมสมทบทุนสามารถร่วมบริจาคเงินได้ที่ บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาหนองจอก ชื่อบัญชี ม.มหานครผลิตเครื่องกรองน้ำเพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัย เลขที่ 217-4-11111-8

นับเป็นอีกหนึ่งหนทางของการอยู่รอดในสภาวะที่น้ำท่วมหนักเช่นนี้.